บางท่านอาจจะเคยได้ยินในชื่อของ กรดโฟเลต หรือวิตามินเอ็ม เรามักจะได้ยินบ่อยครั้งว่ากรดโฟลิกนี้จำเป็นอย่างมากสำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ เพราะสามารถลดความเสี่ยงที่ลูกน้อยจะเกิดมาผิดปกติ หรือพิการได้นั่นเอง แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่าแท้จริงแล้วกรดโฟลิกคืออะไร มีประโยชน์อย่างไร และอยู่ในอาหารประเภทใดบ้าง
ประโยชน์ และสรรพคุณของกรดโฟลิก
- กระตุ้นร่างกายให้สามารถสร้างแอนติบอดี้ เพื่อต่อสู้กับโรคต่างๆที่กำลังรับมือ ดังนั้นผู้ที่กำลังป่วยเป็นโรคร้ายต่างๆ จึงควรได้รับสารอาหารประเภทนี้อย่างเพียงพอ ควบคู่ไปกับการรักษา
- สามารถช่วยสาวๆ เรื่องสีผิวไม่สม่ำเสมอได้เป็นอย่างดี แต่ก็ควรได้รับในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่มากจนเกินไป
- ช่วยรักษาอาการซีด หรือโลหิตจางได้
- สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งบริเวณต่างๆ ได้ เพราะกรดโฟลิกจะไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนตี้บอดี้นั่นเอง
- ช่วยชะลอให้ผมหงอกช้าลงได้ แต่เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ ควรรับประทานคู่กับวิตามินบี 5
อาหารที่มีกรดโฟลิก
- ตับวัว อาหารที่เสริมทั้งธาตุเหล็ก และโฟลิก ไปพร้อมๆกัน หาซื้อมาทำอาหารได้ง่ายๆ
- ไข่แดง วัตถุดิบที่หาได้ง่ายแสนง่าย แต่เต็มไปด้วยคุณค่าทางอาหาร ทั้งโปรตีน ธาตุเหล็ก ไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย และกรดโฟลิก ดังนั้นคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ ควรหันมารับประทานเมนูไข่เป็นประจำ
- ฟักทอง ไม่ได้ให้เพียงกรดโฟลิกที่จำเป็นในขณะตั้งครรภ์เท่านั้น แต่ยังเป็นอาหารที่ช่วยบำรุงให้คุณแม่มีน้ำนมเลี้ยงเจ้าตัวน้อยได้อย่างเพียงพออีกด้วย
- ผักใบเขียวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง ผักบุ้ง หรือผักใบเขียวชนิดอื่นๆ ก็มีกรดโฟลิกด้วยกันทั้งนั้น แถมยังมีวิตามิน และกากใยอาหารสูง ช่วยในเรื่องของการขับถ่ายอีกด้วย
- มะละกอแขกดำสุก ที่มีกรดโฟลิกมากถึง 255 ไมโครกรัม แถมยังช่วยเรื่องผิวพรรณให้สดใส เปล่งปลั่ง และช่วยให้ระบบขับถ่ายดีขึ้นอีกด้วย
เกร็ดความรู้
- สำหรับสตรีที่ตั้งครรภ์ควรได้รับกรดโฟลิกมากกว่าปกติถึง 2 เท่า เนื่องจากเมื่อตั้งครรภ์ร่างกายจะดูดซึมกรดโฟลิกได้น้อยลงกว่าปกติ
- การรับประทานกรดโฟลิกปริมาณมาก หรือติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อาจทำให้มีฤทธิ์ต่อต้านยารักษาโรคมะเร็งบางชนิด ดังนั้นผู้ที่ต้องการรับประทานไปพร้อมกับการรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์ก่อน
- กรดโฟลิกไม่เหมาะกับผู้ที่เป็นโรคลมชัก เนื่องจากอาจจะไปทำปฏิกิริยากับยาบางประเภท และทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการชักได้ง่ายขึ้น
- หากปริมาณกรดโฟลิกในร่างกายของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์น้อยกว่าร้อยละ 25 จะมีความเสี่ยงต่อการพัฒนาของสมอง และระบบประสาทมาก